“ยาสตรี” คือ ยาสมุนไพรแผนโบราณมักประกอบตามสูตรต่างๆที่บันทึกไว้ ดังจะเห็นได้จากยาสตรียี่ห้อต่างๆในปัจจุบัน ส่วนประกอบที่สำคัญของยาสตรีมักจะเป็นสมุนไพรต่างๆ ได้แก่ โกฏเชียง โกฏหัว บัว ตานเซียม กิ่งอบเชย บักดี้ และแอลกอฮอล์ ซึ่งเมื่อนำมาผสมกัน ตัวแอลกอฮอล์ก็จะสกัดเอาสารสำคัญชนิดหนึ่งออกมา เรียก phytoestrogen ยาสตรีมักจะให้สรรพคุณอยู่สองประเภท คือ 1. ประเภทบำรุงเลือด และ 2. ประเภทขับเลือด โดยแต่ละชนิดจะมีสรรพคุณและข้อควรระวังที่แตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ตามส่วนประกอบของยาสตรีจะประกอบด้วยกัน 3 ส่วนคือ 1. สมุนไพรออกฤทธิ์ทั่วไป 2. สมุนไพรที่ออกฤทธิ์ให้ฮอร์โมนเพศหญิง 3. แอลกอฮอล์ ดังนั้นสรรพคุณของยาสตรีแต่ละยี่ห้อก็จะแตกต่างกันออกไปตามส่วนประกอบที่ใส่มาในตำหรับของยา ซึ่งสามารถจำแนกตามสรรพคุณได้ดังต่อไปนี้
สมุนไพรและสารออกฤทธิ์ในยาสตรี
โกฐหัวบัว ชื่อสามัญ Szechuan lovage, Selinum เป็นพรรณไม้พุ่มหรือไม้ล้มลุกขนาดเล็ก ส่วนของเหง้าคือส่วนที่นำมาใช้ทำยา ซึ่งเรียกว่า “โกฐหัวบัว” เหง้ามีรสเผ็ด ขมเล็กน้อย เป็นยาสุขุม ออกฤทธิ์ต่อหัวใจ ตับ และถุงน้ำดี ใช้เป็นยาฟอกเลือด แก้เลือดน้อย แก้โรคโลหิตจาง บำรุงโลหิต ใช้โกฐหัวบัวรักษาสตรีที่ประจำเดือนมาไม่ปกติ ประจำเดือนไม่มา หรือมีอาการปวดประจำเดือน
โกฐเชียง หรือตังกุย ชื่อวิทยาศาสตร์ Angelica sinensis ไม้ล้มลุก รากสดอวบหนา รูปทรงกระบอก แยกเป็นรากแขนงหลายราก มีสรรพคุณเป็น สมุนไพรบำรุงเลือด ทำให้เลือดหมุนเวียน บำรุงโลหิต รักษาโรคเลือดในระบบหัวใจและตับพร่องสำหรับสุภาพสตรีก็จะส่งผลให้ผิวพรรณดูมีเลือดฝาด มีน้ำมีนวล ขึ้น
ว่านชักมดลูกตัวเมีย ชื่อวิทยาศาสตร์ Curcuma comosa Roxb. ตามสรรพคุณตำรายาไทยนั้น จะใช้ว่านชักมดลูกตัวเมียเป็นหลัก เพราะมีสรรพคุณรักษาอาการต่าง ๆ ของสตรี ไม่ว่าจะเป็นอาการประจำเดือนมาไม่เป็นปกติ ปวดท้องประจำเดือน ตกขาว ซึ่งมีงานวิจัยพบว่าว่านชักมดลูกตัวเมียจะออกฤทธิ์ได้เป็นอย่างดีเพราะมีสารออกฤทธิ์ในกลุ่มไดแอริลเฮปตานอยด์เรียกสารชนิดนี้ว่า ไฟโตเอสโตรเจน ซึ่งมีฤทธิ์คล้ายกับฮอร์โมนเอสโตรเจน
ฮอร์โมนเอสโตรเจน (estrogen) เป็นฮอร์โมนเพศหญิงซึ่งร่างกายเราผลิตจากรังไข่ รก หรือต่อมหมวกไต โดยฮอร์โมนกลุ่มนี้มีผลโดยตรงต่อการแสดงลักษณะของเพศหญิง นับตั้งแต่การเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ มีประจำเดือน ตกไข่ ตั้งท้อง/การตั้งครรภ์ ไปจนถึงวัยหมดประจำเดือน
ไฟโตเอสโตรเจน (phytoestrogen) คือสารประกอบที่ได้จากพืช พบได้ในอาหารต่างๆมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถั่วเหลือง มีสรรพคุณในการลดโอกาสในการเกิดโรคกระดูกพรุน โรคหัวใจ มะเร็งเต้านม และวัยทอง
แอลกอฮอล์ สาเหตุที่ต้องใส่เนื่องจากการใช้แอลกอฮอล์ในการสกัดเอาสารสำคัญออกจากพืช ทำให้มีรายงานพบว่ามีผู้หันมาดื่มยาสตรีแทนเหล้า ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อร่างกาย เช่น พิษสุรา ได้
ข้อควรระวังในการใช้ยาสตรี
ในตำรับยาสตรีบางตำรับไม่มีการผสมแอลกอฮอล์ลงไปในสูตร ส่วนมากมักจัดตนเองอยู่ในประเภทยาบำรุงเลือดก็อาจไม่ส่งผลเสียใดๆ แต่ในยาสตรีบางตำรับมีการใส่แอลกอฮอล์ลงไปผสมด้วยซึ่งอาจมีผลต่อทารกในครรภ์ดังนั้น ผู้บริโภคจำเป็นต้องอ่านฉลากอย่างละเอียดโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากกำลังวางแผนจะตั้งครรภ์หรือกำลังตั้งครรภ์อยู่ หากมีการระบุว่าสตรีมีครรภ์ห้ามรับประทานก็จำเป็นจะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
เนื่องจากยาสตรีมีส่วนประกอบที่แตกต่างกัน แม้จะมีชื่อว่าเป็นยาสตรีเหมือนกัน ส่วนประกอบบางอย่างก็อาจเป็นอันตรายแก่ทารกได้ เช่น หัวเหล้าที่ใส่เพื่อให้มีฤทธิ์รสร้อนตามตำรับ หากสตรีมีครรภ์บริโภคเข้าไปก็อาจส่งผลให้เกิดอันตรายต่อทารกและอาจทำให้แท้งได้ซึ่งทำให้คนส่วนหนึ่งเข้าใจผิดว่ายาสตรีเป็นยาขับเลือด ดังนั้นการเลือกบริโภคจึงเป็นเรื่องที่สำคัญแม้ว่าจะมีการอวดอ้างว่าเป็นยาบำรุงมิใช่ยาขับเลือดก็อาจมีส่วนประกอบอันตรายต่อสตรีมีครรภ์ เช่น หัวเหล้าได้ จึงควรอ่านฉลากอย่างถี่ถ้วนก่อนบริโภคทุกครั้ง
แม้ว่ายาสตรีจะเป็นยาสมุนไพรแผนโบราณที่อยู่คู่สังคมไทยมานาน วางขายในร้านที่ดูน่าเชื่อถือ แต่เมื่อวิเคราะห์ถึงส่วนประกอบแล้วจะพบว่ามีทั้งสรรพคุณและโทษอยู่ ดังนั้นการอ่านฉลากจึงเป็นสิ่งสำคัญ รวมถึงในสตรีมีครรภ์การเฝ้าระวังก็ยิ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากขึ้นไปอีก เพราะอาจส่งผลต่อทารกในครรภ์ได้ แม้ตัวยาเองอาจปลอดภัยแต่การบริโภคสารสำคัญบางอย่างมากเกินไปก็อาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้ เช่น ไฟโตเอสโตรเจนหากบริโภคมากเกินไปก็อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิด ถุงน้ำ (cyst) ที่รังไข่ หรือ ที่เต้านมได้ ดังนั้น เมื่อใช้ยาสตรีจึงควรติดตามการเปลี่ยนแปลงในร่างกายของตนเองเป็นระยะๆ แม้ราคาของยาสตรีจะไม่สูงมาก คือ ตั้งแต่ หลักสิบไปจนถึงหลายพันบาท แต่ราคาในการรักษากลับสูงกว่านั้นมาก จึงฝากผู้อ่านทุกท่านก่อนจะใช้ยาใดควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง อ่านฉลากและติดตามผลอย่างละเอียดเพื่อสุขภาพที่ดีในอนาคต
ขอบคุณข้อมูลประกอบจาก :
https://hd.co.th/drug-nourish-for-woman